Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบใกล้ตัวของผู้หญิง

15 ธ.ค. 2566


   มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่พบในเพศหญิง เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ท่อน้ำนม โดยเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวผิดปกติแล้วลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นหากปล่อยไว้ อาจแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่นๆ ในร่างกายได้ ผ่านทางเดินน้ำเหลือง หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการรักษา การตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ แม้ว่ารอยโรคมีขนาดเล็กมากก็ตาม

มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร

   เต้านม จะประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม ไขมัน เส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง เต้านมวางอยู่บนกล้ามเนื้อหน้าอกและซี่โครง มีหน้าที่ในการสร้างน้ำนม โดยเต้านมจะขยายขนาดตอบสนองกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งผลิตจากรังไข่เป็นหลัก มะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอก หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะโตขึ้นและกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ก่อนที่จะกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก เป็นต้น

ระยะของมะเร็งเต้านม

  • ระยะ 0 – 1 หรือระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่ยังไม่พบการลุกลาม แต่สามารถพบเซลล์ผิดปกติภายในท่อน้ำนม
  • ระยะ 2 เซลล์มะเร็งอาจเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมโดยที่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะ 3 เซลล์มะเร็งที่เต้านมขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง โดยอาจมีการลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของช่องอก, เกิดแผลที่ผิวหนังหรือมีการลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองมากกว่าระยะที่ 2 โดย ในระยะนี้ก้อนเนื้ออาจมีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร
  • ระยะ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น สมอง กระดูก หรือปอด เป็นต้น ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีขนาดได้หลายขนาด ซึ่งเป็นระยะที่รักษาไม่หายขาดแต่สามารถรักษายืดอายุได้

สัญญาณที่บ่งบอก หรือลักษณะอาการที่บ่งบอกอาจเป็นมะเร้งเต้านม

  • คลำได้ก้อนในเต้านมหรือใต้แขน
  • ผิวหนังของเต้านมมีความผิดปกติ เช่น เต้านมมีรอยบุ๋ม รอยยับ รอยย่น รอยแดง หรือรอยแข็งๆคล้ายผิวส้ม
  • บริเวณหัวนมมีความผิดปกติเช่นหัวนมบุ๋มมีแผลและผื่น
  • บริเวณเต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
  • มีอาการปวดบริเวณเต้านม
  • มีของเหลวไหลออกจากหัวนมหากมีน้ำสีแดงไหล ควรให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
  • ไม่อาการผิดปกติ แต่พบรอยโรคจากการตรวจแมมโมแกรม หรืออัลตร้าซาวด์เต้านม

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีความเสี่ยง ควรพบแพทย์เฉพาะทางในการตรวจหน้าอก เฉพาะทางด้านเต้านม
  • ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
  • ผู้หญิงที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิงหรือรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  • มีประวัติของโรคมะเร็งเต้านมข้างใดข้างหนึ่งมาก่อน อาจมีความเสี่ยงเป็นอีกข้างได้
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
  • คุณผู้หญิงที่ยังไม่มีบุตร
  • คุณผู้หญิงที่มีลูกคนแรกช้า มีบุตรตอนอายุมากกว่า 30 ปี
  • คุณผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็ว มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
  • รับประทานยาคุมนานกว่า 5 ปี การใช้เอสโตรเจนรักษาวัยหมดประจำเดือนนานกว่า 5 ปี จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมากขึ้น
  • หมดประจำเดือนครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน โดยเฉพาะหลังหมดประจำเดือน

วิธีการตรวจมะเร็งเต้านม ทำได้โดย 3 วิธี

  1. การคลำเต้านมด้วยตนเอง โดยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ หลังจากหมดประจำเดือน ประมาณ 7 – 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่ม ซึ่งทำให้ตรวจได้ง่าย และสำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยวิธีดังนี้
    • การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มจากคลำส่วนบนของเต้านมตามแนวก้นหอยไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
    • การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านม จนถึงฐานและกลับขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
    • การคลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม เริ่มคลำจากจากใต้เต้านมจนถึงไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั้วทั้งเต้านม
  2. การตรวจด้วยวิธี ดิจิตอลแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวด์เต้านม (Digital Mammogram With Ultrasound Breast) แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจทุก 1 - 2 ปี
  3. การเจาะชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ทันที่ที่ตรวจพบความผิดปกติ หรือต้องสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาสามารถทำได้หลายเทคนิคโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะโรค และดุลยพินิจของแพทย์

ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านม

   วิธีการรักษามะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาด ตำแหน่ง และชนิดของมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจได้รับการรักษาแตกต่างกัน การรักษามะเร็งเต้านมไม่จำเป็นต้องทำการตัดเต้านมในผู้ป่วยทุกราย โดยวิธีการรักษาได้โดยวิธีการ ดังนี้

  • การผ่าตัด ปัจจุบันโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การรักษาแบบการผ่าตัดสงวนเต้าเพื่อเป็นการคืนความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • การรักษาโดยใช้รังสีรักษา หรือฉายแสง
  • การรักษาโดยใช้ยาต้านฮอร์โมน
  • การทำเคมีบำบัดในกรณีเฉพาะผู้ป่วยบางราย
  • การรักษาโดยใช้ยาที่มีการออกฤทธิ์เฉพาะที่

   มะเร็งเต้านม พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิง ถือเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวอย่างมาก ความน่ากลัว คือ ระยะเริ่มแรกไม่แสดงอาการ แต่จะชัดเจนเมื่อก้อนในเต้านมเกิดอักเสบ ดังนั้นหากตรวจพบความผิดปกติในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง และทำให้ผู้ป่วยกลับมามีความมั่นใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ปกติอีกครั้ง

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.วรเทพ กิจทวี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.